![]() ![]() |
ธรรมะพุทธรัตนประดับใจ" พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะประณีตเกินกว่าจะมีรัตนใดเสมอได้” ความข้อนี้พุทธบริษัททั้งชาวไทยและต่างประเทศรู้กันโดยทั่วไป เหตุใดจึงเปรียบพระพุทธเจ้าเป็นรัตนะ อันมีความหมายว่า " แก้ว " หรือ " ความประเสริฐ " แท้จริงแก้วนั้นมีหลายชนิด เช่น แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วบุษราคำ เป็นต้น แต่แก้วที่จัดเป็นรัตนะนั้นเป็นแก้วที่บริสุทธิ์ไร้ตำหนิหรือมลทินใดๆ เป็นแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์เกิดความชื่นตาเย็นใจแก่ผู้ได้พบเห็น เพราะมองแล้วไม่มีอะไรสะดุดตาติดค้างคาใจ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต บริสุทธิ์หมดจดไร้มลทินที่ใครจะนำมาตำหนิติเตียนได้ เพราะประกอบด้วยพระคุณทั้ง ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ พุทธบริษัททั้งหลายก่อนแต่จะเริ่มต้นและเลิกประกอบศาสนพิธีใด ๆ ต่างก็ประกาศพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ทุกครั้งคราว กล่าวคือพร้อมกันเปล่งวาจาว่า “ อรหํ สมมาสมพุทโธ ภควา ” อันบัณฑิตแปลได้ไว้ว่า “ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง ทรงจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ” เป็นที่เข้าใจชัดกันอยู่โดยทั่วไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีความเลื่อมใสยิ่งขึ้น จะได้แสดงถึงพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการให้ปรากฏชัดในสมาคมนี้ พระพุทธคุณข้อว่า “ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไกลจากกิเลส ” หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธองค์ ทรงบริสุทธิ์เพราะห่างไกลจากกิเลส กิเลสคือเหตุแห่งความเศร้าหมอง อันได้แก่ความประพฤติทุจริตทั้งหลายอันจะเป็นเหตุให้ผู้ประพฤิตต้องมัวหมองทั้งกายใจ ผู้ใดประพฤติทุจริตแม้จะปกปิดไว้อย่างไรก็ปิดได้มิดเพราะตัวผู้ประพฤติผิดนั้นเองต้องหม่นหมองใจ ทุจริตคืออะไร พระพุทธองค์แสดงไว้ในอกุศลกรรมบถว่ามี ๑๐ ประการ คือ กายทุจริต ๓ ได้แก่ การฆ่าสัตว์คือเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ๑ การลักทรัพย์ คือเบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่น ๑ การประพฤติผิดในกามคือล่วงประเวณี ๑ วจีทุจริต ๔ ได้แก่ พูดเท็จ คือถ้อยคำอันไม่เป็นจริง ๑ พูดส่อเสียด คือถ้อยคำอันก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ๑ พูดคำหยาบ คือถ้อยคำอันเสียดแทงจิตใจของผู้ฟัง ๑ พูดเพ้อเจ้อ คือถ้อยคำอันไร้สาระสร้างความรำคาญใจแก่ผู้ฟัง ๑ มโนทุจริต ๓ ได้แก่ โลภะ อยากได้จนเกินควร ๑ พยาบาท ปองร้าย ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๑ โดยทั่วไปกล่าวกันเพียงว่ากิเลส คือ โลภะ โทสะ และโมหะ อันจำกัดเฉพาะลงแต่เพียงมโนทุจริตเท่านั้น ทั้งนี้เพราะทั้งกายทุจริตและวจีทุจริตเกิดขึ้นภายหลังมโนทุจริต เมื่อมโนทุจริตเกิดขึ้นแล้วไม่ถูกระงับก็จะขยายไปประพฤติวจีทุจริต และกายทุจริตต่อไป แม้ในมโนทุจริตทั้ง ๓ เมื่อจิตเกิดความโลภแล้วหากไม่ได้ตามที่ต้องการจิตก็จะพยาบาท เมื่อพยาบาทแล้วก็หาทางระบายคือมองเห็นผิดเป็นชอบประกอบกรรมชั่วทำจิตให้มัวหมอง ดังนั้น เมื่อมโนทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในใจ หากระงับดับได้จะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมัวหมอง ดังตัวอย่างพระพุทธองค์ครั้งเมื่อทรงผจญอันตรายต่าง ๆ เช่น ทรงเผชิญกับการประทุษร้ายจากพระเทวทัตผู้ถูกอกุศลจิตครอบงำทำอันตรายหลายวิธี มีการจ้างนายขมังธนูมารอบปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนศิลาใหญ่หมายจะบดทับพระพุทธองค์ และปล่อยช้างนาฬาคิรีที่ถูกมอมเมาให้มุ่งมาทำร้ายพระพุทธองค์ แม้ถึงอย่างนี้พระพุทธองค์มิได้ทรงมีอาฆาตพยาบาทตอบแก่พระเทวทัตและบริวารเลย หากแต่ทรงตรัสว่า พระองค์มีน้ำพระทัยต่อพระราหุลกุมารอย่างไร ก็ทรงมีน้ำพระทัยต่อพระเทวทัตเช่นนั้น หรือในเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ที่ทรงถูกประทุษร้ายทั้งพระชนมชีพ และพระเกียรติคุณ ได้ทรงประกาศพระบริสุทธิคุณให้ปรากฏว่าพระองค์นั้นทรงห่างไกลจากกิเลสเหตุแห่งความเศร้าหมอง และทรงสามารถระงับเหตุการณ์ร้ายด้วยพระบริสุทธิคุณนี้ ตรงกับคำที่กล่าวว่า “ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในความดีแม้จะมีภัยใดมาราวีก็ไม่หวั่น” เพราะภัยที่น่ากลัวอยู่ในตัวเราเอง
บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญอย่างต่อเนื่องมาหลาย ๆ พระชาติจากมารมีธรรมดาพัฒนาสูงขึ้นไปจนถึงบารมีอย่างยากยิ่งที่เรียกว่าปรมัตถ์ เช่น ทรงบำเพ็ญทานบารมีด้วยการสละทรัพย์สิ่งของภายนอก สละสิ่งเป็นที่รักเช่นบุตร-ธิดา หรือภรรยา สุดท้ายถึงสละพระชนมชีพของพระองค์เอง ทั้งนี้เพื่อให้ทรงคุ้นเคยกับการเสียสละและเห็นการเสียสละเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหตุให้ทรงเกิดความมั่นพระทัยในการสละราชสมบัติเสด็จออกผนวชในพระชาติสุดท้าย แม้ถึงอย่างนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญเพียรเพื่อการตรัสรู้อีกเป็นเวลาถึง ๖ ปีด้วยวิธีหลากหลายถึงขั้นว่าเกือบจะสิ้นพระชนม์ เหล่านี้ล้วนแต่ประกาศถึงพระปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ หากไม่ทรงบำเพ็ญบารมีมาอย่างเต็มที่แล้ว ไฉนเลยจะทรงคิดสละความสุขที่พรั่งพร้อมออกผนวชแสวงหาพระโพธิญาณอันยากยิ่งเช่นนี้ได้ นี้แลเป็นการประกาศถึงพระปัญญาคุณว่าพระพุทธองค์เองก็ทรงเป็นมนุษย์เช่นทุกคนได้ทรงทดลองปฏิบัติทั้งผิดและถูกจนแจ้งประจักษ์ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกจึงทรงละสิ่งที่ผิดและทรงปฏิบัติสิ่งที่ถูกด้วยความมั่นพระทัยว่าสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบนี้เป็นสัจจธรรมแท้จริง
อนึ่ง การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ทรงแสดงตามเหมาะสมกับผู้ฟังโดยมุ่งธรรมปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุมรรคผลในเบื้องหน้า จึงปรากฏมีผู้บรรลุแจ้งเห็นจริงตามธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นจำนวนมากสุดจะคณนานับ และปรากฏประจักษ์ถึงปัจจุบันเป็นพระคุณต่อสัตว์โลกไม่มีประมาณ พระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการดังยกขึ้นมาแสดงพอเป็นเหตุให้มีความมั่นใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันประณีตควรค่าต่อการแสวงหาและรักษาไว้ประดับตน สาธุชนทั้งหลาย ปัจจุบันนี้จะแสวงหาพระพุทธองค์ไม่พบแล้วก็ตามที หากสามารถระลึกถึงพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ และน้อมนำมาปฏิบัติประจำชีวิตก็จักประสบพบพระพุทธองค์ กล่าวคือ ๑. พึงประพฤติตนให้ห่างไกลจากกิเลสเหตุแห่งความเศร้าหมองของชีวิตทั้งปวง โดยละชั่วประพฤติชอบ รักษาใจของตนให้ผ่องแผ้ว ๒.พึงบำเพ็ญความดีเพื่อฝึกหัดตนให้คุ้นเคยในการทำกรรมดีอย่างมีเหตุผล คือรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่เชื่อสิ่งใดอย่างงมงายโดยปราศจากเหตุผล ๓. พึงตั้งใจทำดีมีไมตรีจิตต่อทุกคน ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ให้เป็นที่ยอมรับนับถือในคุณความดีจากคนทั้งหลาย หากกระทำได้ดังนี้ เหมือนดังได้บูชาพระ ๓ องค์อยู่ในใจ สร้างสิ่งมีค่ายิ่งใหญ่ไว้ในตัวโดยไม่ต้องกลัวโจรมาช่วงชิง พระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้มีในผู้ใด สังคมใด ย่อมประเสริฐกว่าการมีทรัพย์อันมีค่าอื่น ๆ เพราะสามารถจะสร้างความสงบร่มเย็นให้ผู้นั้น และสังคมนั้น ๆ อย่างอัศจรรย์ แม้ในที่อันพรั่งพร้อมด้วยวัตถุสมบัติเช่นสวงสวรรค์ หากยังมีการประพฤติทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็ไม่เป็นที่พึงปรารถนา เพราะยังมีความหวาดระแวง แข่งขัน แก่งแย่งกันและกัน หากสังคมใดไร้ทุจริตแม้จะขาดแคลนทรัพย์แต่ก็อบอุ่นใจว่าปลอดภัยไม่ต้องหวาดระแวง พระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการนี้ปรากฏในที่ใดย่อมจะสร้างความสงบร่มเย็นปลอดภัยให้แก่สถานที่นั้นจึงมีค่ายิ่งกว่ารัตนะอื่นใด เพราะรัตนะอื่น ๆ เหล่านั้น มีในที่ใดย่อมเป็นที่หมายปองของทุกคนและสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ครอบครองต้องซุกต้องซ่อนต้องหวงแหน เมื่อสูญหายหรือแตกทำลายไปก็เกิดความทุกข์เพราะเสียดาย ต่างจากพุทธรัตนะที่เกิดขึ้นแล้วแผ่กว้างไพศาลไปมากเพียงไร ย่อมเกิดความสุขสงบร่มเย็นมากเพียงนั้น จึงเป็นรัตนที่บริสุทธิ หมดจด ไร้มลทินประณีตกว่ารัตนะใด ๆ ทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น |