
ปูชนียวัตถุ
สิ่งที่เป็นปูชนียวัตถุสำคัญที่ควรแนะนำภายในวัดบพิตรพิมุข คือ
๑. พระประธานในพระอุโบสถ

พระประธานในพระอุโบสถวัดบพิตรพิมุข เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ไม่ปรากฏพระนาม หน้าตัก ๒.๓๕ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๓.๓๓ เมตร ประดิษฐานบนฐานที่ตั้งอยู่บนชุกชีเดียวกันกับพระอัครสาวก (พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร) ๒ องค์ สูง ๑.๐๕ เมตร นั่งคุกเข่าประนมมือหันเข้าหาพระพุทธรูปสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมพระอุโบสถ พุทธลักษณะงดงามอย่างศิลปอยุธยา บางท่านเรียกว่า “อยุธยาหน้าหนุ่ม” หรือ “อยุธยาหน้านาง”
๒. พระพุทธรูปในพระวิหาร

พระพุทธรูปประจำพระวิหารวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร มี ๖ องค์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ขนาดหน้าตัก ๑ เมตรเศษ สูงตลอดพระรัศมี ๑.๕๐ เมตร ประดิษฐานบนแท่นชุกชีเดียวกันด้านทิศใต้ภายในพระวิหารสันนิษฐานว่าคงจะสร้างในเวลาต่างกันเพราะพระพักตร์แต่ละองค์ นั่งแตกต่างกัน บางองค์พระพักตร์ยิ้ม บางองค์พระพักตร์บึ้ง เดิมประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารด้านทิศเหนือ ๓ องค์ และด้านทิศใต้ ๓ องค์ แต่ได้ย้ายมารวมไว้ด้านเดียวเพื่อประโยชน์ใช้พื้นที่
๓. พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิสมัยทวาราวดี

พระพุทธศิลาอู่ทอง
พระประธานในพระวิหาร
พระพุทธรูปศิลาทรายขนาดหน้าตัก ๔๒ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๑.๐๕

พระพุทธบพิตรมงคล
(หลวงพ่อพระยิ้ม)
๔. พระพุทธรูประเบียงพระวิหารคต

พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๑ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๑.๕๐ เมตร จำนวน ๔๘ องค์ ประดิษฐานบนแทนชุกชีภายในระเบียงพระวิหารคต
๕. พระสัมพุทธบพิตรฯ (หลวงพ่อแสน)
พระพุทธรูปหล่อโลหะลงรักปิดทอง ศิลปะสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หน้าตัก ๘๒ เซนติเมตรสูงตลอดพระรัศมี ๑.๑๓ เมตร ประดิษฐานภายในพระวิหารเล็กด้านทิศตะวันตก พร้อมด้วยรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร และพระเทพมุนี (ธีร์ มหาธีโร)
๖. พระเจดีย์ทรงลังกา

ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมสูงราว ๑๒-๑๘ เมตร ฉาบปูนเรียบสีขาว กล่าวกันว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกด้านหลังพระอุโบสถ
๗. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ พระรูปประดิษฐานเหนือแท่นภายในซุ้ม ณ พลับพลารับเสด็จฯ
๘. พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ พระรูป
๙. พระไตรปิฎก
ก. ฉบับพิมพ์พระราชทานพระอารามหลวงเนื่องในพระราชพิธีรัชฎาภิเษก พ.ศ. ๒๔๓๗
ข. ฉบับพิมพ์ในรัชกาลปัจจุบัน
ฉบับพิมพ์ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
ดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๓๐ จำนวน ๑ ชุด
ฉบับกรมการศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๕ จำนวน ๑ ชุด
ฉบับพิมพ์ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ พระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฉบับมหาจุฬาฯ) จำนวน ๑ ชุด
๑๐. หนังสือพระปาฏิโมกข์พร้อมตู้ และธรรมาสน์สวด พระปาฏิโมกข์ ๑ ชุด พิมพ์ พระราชทาน เนื่องในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๓
วัตถุมงคลวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร
วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเพื่อมอบแก่พุทธศาสนิกชนไว้สักการบูชาหลายโอกาส และมีแบบพิมพ์แตกต่างกัน ดังนี้
๑.พระรูปเหมือนพระประธานในพระอุโบสถ
วัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นตามแบบพิมพ์พระประธานในพระอุโบสถวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ได้จัดสร้างขึ้นในโอกาสสำคัญของวัด ดังนี้
๑.๑ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้จัดสร้างเหรียญรูปใบเสมาตรงกลางเป็นรูปพระประธานในพระอุโบสถ เพื่อมอบแก่ผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศล ชื่อ “เหรียญบุญญฤทธิ์”
๑.๒ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
พระปริยัติธีรคุณ (ธีร์ มหาธีโร ป.ธ. ๖) ได้บูรณะพระประธานในพระอุโบสถ แล้วนำมวลสารขององค์พระประธานที่เหลือจากช่างขัดแต่งมาผสมสร้างเป็นพระสมเด็จพิมพ์สี่เหลี่ยมมี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก เพื่อมอบแก่ผู้ร่วมบูรณะพระอาราม
๑.๓ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร คณะสงฆ์ให้จัดสร้างเหรียญเหมือนพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพิมพ์หยดน้ำ เนื้อทอง เงิน นาก และทองแดง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมอบแก่ผู้บริจาคทรัพย์ร่วมบูรณะพระอุโบสถอีกส่วนหนึ่ง
๑.๔ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓
คณะสงฆ์วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร และพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสร้างพระผงพิมพ์สมเด็จรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีรูปพระประธานในพระอุโบสถประดิษฐานด้านหน้า ด้านหลังเป็นตราสัญญลักษณ์ของวัดถวายนามว่า “สมเด็จบพิตรพิมุข” รุ่นสบายใจ ไตรมาส ๒๕๔๓ เพื่อมอบแด่ผู้ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรวัดบพิตรพิมุขวรวิหารประจำวัน และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
๒. พระรูปเหมือนพระสัมพุทธบพิตร (หลวงพ่อแสน)
พระสัมพุทธบพิตร (หลวงพ่อแสน) เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของวัดบพิตรพิมุขวรวิหารประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระอุโบสถภายในเขตพุทธาวาสได้มีการสร้างวัตถุมงคลรูปองค์ขึ้นหนึ่งครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ พร้อมกับการสร้างพระปรกใบมะขามของวัดนี้ซึ่งถ่ายพิมพ์มาจากพระสัมพุทธบพิตรนี้เอง
๓. หลวงปู่ใข่
หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง และเป็นรู้จักกันใน
วงการท่านที่นิยมพระเครื่องว่า “พระอาจารย์ไข่ วัดเชิงเลน” ท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมสูง เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ปฏิบัติธรรม เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากจะเป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติแล้ว หลวงปู่ได้สร้างพระแจกให้ศิษย์และผู้ที่มานมัสการท่านเพื่อนำไปบูชาให้เกิดสิริมงคลอีกด้วย ปรากฏว่า วัตถุมงคลที่ท่านแจกไปนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเด่นในด้านเมตตามหานิยมและลาภผลพูลทวี
วัตถุมงคลที่สร้างในสมัยหลวงปู่นั้นมีเหรียญรูปเหมือนองค์ท่าน, พระปิดตา, พระอรหังและผ้ายันต์ วัตถุมงคลของท่านมีผู้แสวงหากันโดยทั่วไป แต่หาได้ยากมาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ วัดได้จัดสร้างวัตถุมงคลของท่านเป็นครั้งแรกหลังจากท่านมรณภาพแล้ว การจัดสร้างครั้งนั้นวัดได้รับความเอื้อเฟื้อจากนายเช้า เฉลิมช่วง อดีตผู้พิพากษาซึ่งเคยเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ นำพระเครื่องทุกชนิดที่ท่านสร้างไว้มาถ่ายแบบเพื่อให้เหมือนของเดิมทุกประการเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้มีไว้สักการบูชา และได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก บางอย่างก็หมดไปในระยะเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ กาลได้ล่วงเลยมาเป็นเวลา ๑๘ ปี วัตถุมงคลส่วนใหญ่ที่สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้หมดไปคงเหลืออยู่เฉพาะรูปเหมือนเนื้อทองแดงเท่านั้น แต่มีผู้สนใจมาถามหาอยู่เสมอ วัดมีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนมีไว้สักการบูชา จึงได้จัดสร้างขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สองสร้างตามแบบเดิมทุกประการในจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่มีจะได้มีโอกาสนำไปสักการะบูชา เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๖ พระเทพมุนี (ธีร์ มหาธีโร ป.ธ.๖) เจ้าอาวาสพร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ได้ปรารภถึงรูปเหมือนขนาด ๕ นิ้ว และ ๓ นิ้ว ที่จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้หมดไปจึงจัดสร้างขึ้นอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ได้ฝังตระกุดทอง เงิน นาค ไว้ใต้ฐานด้วย พร้อมกันนี้ได้สร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ไข่ชนิดอื่นๆ ขึ้นอีก ได้แก่ พระปิดตาเนื้อผง, พระหยดน้ำ(อรหัง) เนื้อผง, พระรูปเหมือนพิมพ์เตารีดเนื้อผง,และรูปเหมือนรูปไข่เนื้อผง
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ พระราชปริยัติดิลก (อาทร อินฺทปญฺโญ ป.ธ. ๙ , พธ.บ) เจ้าอาวาสพร้อมคณะกรรมการวัดได้จัดสร้างพระผงรูปเหมือนพิมพ์หลังเล็บ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ไข่และด้านหลังเป็นตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๕ เพื่อมอบแก่ผู้บริจาคทรัพย์บูรณะพลับพลา รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดบพิตรพิมุขวรวิหารด้านริมคลองโอ่งอ่าง