ความเป็นมาของ วัดพบิตรพิมุขวรวิหาร

วัดบพิตรพิมุข วรวิหาร

           วัดบพิตรพิมุข เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ที่เลขที่ 266 ถนนจักรวรรดิ แขวง จักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร

 


ชื่อวัด

        วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร  มีชื่อเรียก ๒ อย่าง  คือ
        ๑."วัดเชิงเลน" หรือ "วัดตีนเลน"  เป็นชื่อที่เรียกมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี   เลิกใช้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดบพิตรพิมุข”
        ๒."วัดบพิตรพิมุข"  เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๒๘ ในคราวสมโภชพระนคร และสมโภชวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

        ชื่อวัดบพิตรพิมุขวรวิหารนั้น ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีผู้เข้าใจและเขียนสับสนหลายอย่าง เช่น“บพิตรภิมุข”บ้าง  “บพิธพิมุข” บ้าง “บพิตรพิมุข” บ้าง “มงคลภิมุข” บ้าง แต่ชื่อที่ถูกต้องนั้น คือ      “วัดบพิตรพิมุข” เพราะถือข้อยุติตามพระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สถานที่ตั้ง

        วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖๖ ถนนจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐ ติดคลองโอ่งอ่างฝั่งตะวันออก ตอนใต้ที่จะจรดแม่น้ำเจ้าพระยา บนเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๖๔ ตารางวา มีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่ใกล้เคียงต่อไปนี้

                   ทิศเหนือ        จรดซอยบพิตรพิมุข
                   ทิศตะวันออก  จรดถนนจักรวรรดิ
                   ทิศใต้            จรดถนนทรงวาด และสะพานพระปกเกล้า
                   ทิศตะวันตก     จรดคลองโอ่งอ่าง

ความเป็นมาของวัด

          วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์นามว่า “วัดเชิงเลน” เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่า มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ดังความปรากฏในตำนานพระอารามว่า วัดบพิตรภิมุข อยู่ในคลองโอ่งอ่างฝั่งใต้ เดิมชื่อวัดตีนเลนฤาวัดเชิงเลน เป็นวัดโบราณ  กรมพระราชวังหลัง ทรงสถาปนาใหม่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ และรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย

          ตามหลักฐานตำนานพระอารามข้างต้น แสดงว่าวัดนี้สร้างขึ้นก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่จะสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ใด และใครเป็นผู้สร้างนั้นไม่ปรากฏ เพราะตำนานของวัดนี้ค่อนข้างจะหายากและโบราณวัตถุสถานที่จะแสดงถึงอายุการสร้างวัดก็ไม่ปรากฏ เมื่อไม่มีหลักฐานอย่างอื่นมาลบล้างก็ต้องถือเอาตามตำนานพระอารามนี้ไปก่อน มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๑ – ๒๓๒๕ โดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณาดังนี้

          ในแผนที่ป้อมเมืองธนบุรี ที่เมอซิเออร์วอลสันต์เดสเวอร์เกนส์ นายทหารช่างฝรั่งผู้รักษาป้อมนั้นได้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ (ต้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา)  (พิมพ์ที่กรมแผนที่ทหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗)    ได้แสดงที่ตั้งป้อมวิชเยนทร์ (ป้อมแก้ว) (ได้รื้อเสียเมื่อรัชการที่ ๑) ซึ่งอยู่บริเวณที่เป็นโรงเรียนราชินีล่างในปัจจุบัน  ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (ป้อมทับทิม) ซึ่งตั้งอยู่ปากคลองบางหลวงฝั่งเหนือวัดแจ้ง (เปลี่ยนชื่อเป็น     วัดอรุณราชวรารามในรัชกาลที่ ๒) และวัดเลียบ (เปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชบูรณะ ในรัชกาลที่๑ ) ไว้อย่างชัดเจน แต่ใกล้ ๆ กับวัดเลียบไม่มีร่องรอยใด ๆ ให้เห็นว่าจะมีวัดที่จะกลายมาเป็นวัดบพิตรพิมุขในขณะนี้ได้เลย       แต่จะกำหนดได้บ้างว่าวัดบพิตรพิมุขนี้คงจะสร้างขึ้นหลังจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๓๑) จะหลังจากนั้นเมื่อไรนั้นยังไม่พบหลักฐาน เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับวัดนี้เพิ่งได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ความเป็นมาของวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร จึงกำหนดได้ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตามพงศาวดารดังกล่าว  ดังนี้

รัชกาลที่๑


          สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือเรียก  สั้น ๆ ว่า “กรมพระราชวังหลัง” ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเชิงเลน ตามที่ปรากฏในตำนานพระอารามหลวงว่า “วัดตีนเลน หรือ วัดเชิงเลน เป็นวัดโบราณ กรมพระราชวังหลัง ทรงสถาปนาใหม่ในรัชกาลที่ ๑”  จึงพอสันนิษฐานได้ว่าวัดบพิตรพิมุขวรวิหารสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๑ ถึง พ.ศ.๒๓๒๕ ตามหลักฐานพงศาวดารปรากฏว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรับเชิญจากราชการและประชาชนให้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในกรุงธนบุรีแล้ว พระองค์มีพระราชดำริว่า พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองธนบุรีเป็นชัยภูมิดีกว่าฝั่งตะวันตก จึงโปรดให้เตรียมสร้างพระนครใหม่ขึ้นบนฝั่งตะวันออก ในชั้นแรกทรงสร้างพระราชนิเวศน์มนเฑียรสถานด้วยไม้ล้อมด้วยไม้และล้อมด้วยรั้วระเนียดไม้ไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อแล้วเสร็จได้เสด็จพระราชดำเนินข้ามฟากมาประทับพระราชมนเฑียรใหม่และทรงกระทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกสถาปนาแผ่นดินฝั่งซ้ายของเมืองธนบุรีขึ้นเป็นกรุงเทพมหานครในต้นปี พ.ศ. ๒๓๒๕

          แต่พระราชพิธีปราบดาภิเษกที่ได้ทำในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น เป็นเพียงแต่พิธีสังเขปยังไม่สมบูรณ์ต้องตามตำรา จำต้องมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีเสด็จเสวยราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินเต็มตามแบบแผนแห่งโบราณราชประเพณี   จะได้เป็นพระเกียรติยศ และเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองภายหน้าอีกด้วย เนื่องจากงานก่อสร้างพระนครอันเป็นงานใหญ่ต้องใช้แรงคนและวัสดุก่อสร้างมาก เพื่อต้องการให้การสร้างสำเร็จลงได้โดยความเรียบร้อยและรวดเร็วทันสถานการณ์ของประเทศจึงโปรดให้เกณฑ์คนมาจากประเทศราชต่างๆ เข้ามาเป็นแรงงานและทรงแบ่งหน้าที่ก่อสร้างต่างๆ ออก พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่เป็นแม่กองรับเอางานไปควบคุม และเร่งรัดการก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงไปตามพระราชประสงค์เรื่องเหล่านี้จึงปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๒๖ โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์ และกำแพงเมืองธนบุรีข้างตะวันออกเสียแล้วขยายพระนครให้กว้างไปกว่าเดิม เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คนเข้ามาขุดคลองคู พระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่บางลำภู ตลอดมาจนออกแม่น้ำข้างใต้วัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ ศอก ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อว่า “คลองรอบกรุง” ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงข้างใต้ไปจนปากคลองข้างเหนือ ยาว ๙๑ เส้น ๑๖ วา รวมทางน้ำรอบพระนคร ๑๗๗ เส้น ๙ วา
          งานด้านอื่นๆ เช่น การจัดสร้างกำแพงและป้อมพระราชวัง วัดพระแก้วและการปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในบริเวณพระนครก็ได้ลงมือเร่งทำไปด้วยพร้อมๆกัน การขุดคลองรอบกรุงเฉพาะในบริเวณที่เป็นปากคลองรอบกรุงด้านใต้ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเลนตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ทรงรับหน้าที่บูรณะวัดต่างๆ พร้อมกันอยู่ ๒-๓ วัดคือ
          *วัดเลียบ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงบูรณะโดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอุปการะด้วยเป็นวัดใหญ่อยู่ในกำแพงพระนครเสร็จแล้วพระราชทานนามว่า “วัดราชบูรณะ”
          *วัดตีนเลนหรือวัดเชิงเลน สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์(ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ เลื่อนขึ้นเป็น “กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์” เมื่อรบพม่าในภาคเหนือชนะ ปลาย พ.ศ. ๒๓๒๘) ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดบพิตรพิมุข”เพื่อเป็นพระเกียรติแด่กรมพระราชวังหลังพระองค์นั้น

          อย่างไรก็ตามการปฏิสังขรณ์วัดบพิตรพิมุขวรวิหารในรัชกาลที่ ๑ โดยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์นั้น แม้จะไม่มีรายละเอียดว่าได้บูรณะปฏิสังขรณ์อะไรบ้างแต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่า น่าจะทรงกระทำอะไรที่ใหญ่โตไม่ได้   คงจะสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์และสิ่งอื่น ๆ ด้วยเครื่องไม้   ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารอาจบูรณะของเก่าไว้ทีหนึ่งก่อน หากจะสร้างขึ้นใหม่ด้วยอิฐหรือปูนทั้งหมดคงจะไม่ทันการณ์ในขณะนั้น เพราะอิฐและปูนหายากเนื่องจากต้องนำมาใช้ในการสร้างพระนคร และพระราชวังที่สำคัญกว่าก็ยังไม่เพียงพออยู่แล้ว ถึงกับต้องรื้อกำแพงรอบกรุงเก่านำอิฐมาใช้ ฉะนั้น จึงปรากฏว่าถาวรวัตถุที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นอยู่ได้ไม่นานต้องรื้อแก้ไขและสร้างใหม่ทั้งหมดในรัชกาลที่ ๓

รัชการที่ ๒


          ในรัชกาลนี้ วัดบพิตรพิมุขวรวิหารมีการก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ไม่มากนัก ทั้งมีเหตุการณ์ที่น่าเศร้ามาพัวพันกับวัดบพิตรพิมุขวรวิหารอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงพระนครอย่างเดียวกับวัดสระเกศ บริเวณวัดบิตรพิมุขวรวิหารส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นสถานที่ฌาปนกิจศพของชาวพระนคร ตามบันทึกในพระราชพงศาวดารรัชการที่ ๒ ที่กล่าวไว้ว่า
           "ในคราวเกิดอหิวาตกโรคระบาดไปทั่วพระนครในปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๒ นั้น มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจนกระทั้งเผาและฝังไม่ทัน วัดบพิตรพิมุขวรวิหารนี้เป็นวัดหนึ่งที่ชาวบ้านหามศพมากองสุมกันเป็นจำนวนมากตามป่าช้าและศาลาดินราวกับกองฟืนเพื่อรอการเผาน่าสังเวชใจยิ่งนัก"

รัชกาลที่ ๓


          ในรัชกาลนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเสนาสนะและถาวรวัตถุที่เป็นเครื่องไม้ แล้วสร้างขึ้นใหม่ด้วยการก่ออิฐถือปูนทั้งหมดเพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมลงเป็นส่วนมากเนื่องจากสร้างไว้ด้วยไม้แม้แต่พระพุทธรูปพระประธานในพระอุโบสถก็สันนิษฐานว่าได้ปั้นขึ้นใหม่เช่นเดียวกัน สิ่งก่อสร้างขึ้นในรัชกาลนี้ที่เหลือมาถึงทุกวันนี้คือ
           ๑. พระอุโบสถ
           ๒. พระวิหาร
           ๓. พระเจดีย์ด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ
           ๔. หอระฆัง ๒ หลัง
           ๕. กุฏิคณะเก๋งจีน ชุด ๘ หลัง (คณะ ๑)


รัชการที่ ๔


          ในรัชกาลนี้ มีการสร้างกุฏิตำหนัก (ปัจจุบันผุพังมาก วัดจึงรื้อออกแล้วสร้างคณะ ๒ ขึ้นแทน) กุฎิหมู่นี้มี ๔ หลังรวมทั้งหอไตร เป็นกุฏิทรงไทยก่ออิฐฉาบปูนมุงกระเบื้องดินเผาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลนี้เพื่อเป็นกุฎิเจ้าอาวาสในสมัยหม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (รอง) ทรงครองวัด ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกุฏิหมู่นี้ว่า “กุฏิตำหนัก”
          อีกอย่างหนึ่ง เรื่องในรัชกาลที่ ๓ กับที่ ๔ ติดต่อกันบริเวณคลองหลังวัดบพิตรพิมุขวรวิหารยังเป็นตลอดขายสรรพสินค้าทั้งสดและแห้ง ภายในคลองเต็มไปด้วยเรือขนถ่ายสินค้าขึ้นลงดังคำที่สุนทรภู่ได้พรรณนาไว้ในนิราศสุพรรณ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ ว่า

                   เชิงเลนเป็นคลาดสร้าง      หลักเรือ
                   โอ่งอ่างบ้างอิฐเกลือ         เกลื่อนกลุ้ม
                   หลีกร่องช่องเล็กเหลือ       ลำบาก ยากแฮ
                   ออกแม่น้ำย่ำถุ้ม               ถี่ฆ้องสองยามฯ


          ตามโคลงนี้ทำให้วาดภาพได้ว่าในสมัยนั้นปากคลองโอ่งอ่างอาจอยู่ลึกเข้ามามากกว่าปัจจุบันนี้ เขตวัดด้านตะวันตกได้จรดริมแม่น้ำและตามริมน้ำส่วนมากเป็นเลนตลอดจรดวัด และตลาดตั้งอยู่บริเวณนั้น จึงได้ชื่อว่า “วัดตีนเลน” หรือ “วัดเชิงเลน” แต่ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้สร้างเขื่อนคอนกรีตตามริมคลองโอ่งอ่างทั้งสองฝั่ง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีถนนเรียบริมคลองกั้นระหว่างวัดกับคลองโอ่งอ่างอีกชั้นหนึ่ง

รัชกาลที่ ๕


          ในรัชกาลนี้ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่าได้ปฏิสังขรณ์อะไรบ้าง สันนิษฐานว่า คงเป็นการบูรณะของเก่าที่ได้สร้างและปฏิสังขรณ์ไว้ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมลงไปให้ดีขึ้นเหมือนเดิม ในคราวเดียวกันนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างพลับพลาเครื่องไม้สักขึ้นไว้บริเวณวัดริมคลองโอ่งอ่างด้านหลังวัด หนึ่งหลังที่หน้าบันด้านริมคลองโอ่งอ่างประดิษฐานพระราชลัญจกร “ตราอาร์ม” แกะสลักด้วยไม้สสักหน้าบันด้านทิศเหนือและทิศใต้แกะสลักเป็นรูปพระราชลัญจกรพระมหาพิชัยมงกุฏอยู่บนพาน มีราชสีห์ถวายพุ่มกระหนาบอยู่สองข้าง สันนิษฐานว่าพลับพลาฯ นี้ทรงโปรดให้สร้าง ขึ้นเพื่อเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร จากหลักฐานปรากฏว่าเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามแห่งนี้ติดต่อกันหลายปี และเนื่องจากพระอารามนี้ตั้งอยู่ริมคลองโอ่งอ่างซึ่งเดิมเป็นเลนอยู่ส่วนมาก จึงทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จ ฯ จากหลักฐานภาพถ่ายเดิมปรากฏว่ามีถนนคอนกรีตทอดยาวจากพลับพลารับเสด็จ มาถึงทางเข้าเขตพุทธาวาส พลับพลารับเสด็จฯ จึงแสดงถึงความสำคัญของพระอารามนี้ในครั้งนั้น


สถานที่สำคัญภายในวัด

           ๑. พระอุโบสถ
           สถาปัตยกรรม ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง มีเสาภายนอกโดยรอบระหว่างเสาและผนังมีระเบียงเดินได้รอบ หลังคาทรงไทยซ้อนสองชั้นมุงกระเบื้องเคลือบดินเผา ช่อฟ้าใบระกาประดับกระจกสีทอง ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นรูปดอกเบญจมาศปิดทองประดับกระจกสี ผนังระหว่างซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกเดิมมีรูปพระพุทธฉาย ปัจจุบันสร้างพระพุทธรูปปางลีลาประดิษฐานบนแท่นแทนบานประตูและหน้าต่างเขียน ลายรดน้ำ ผนังภายในทั้งสี่ด้านเขียนลายประแจจีนประดับดอกไม้ ล่วงบนพื้นสีเหลืองทอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธาน พร้อมด้วยพระอัครสาวก นอกจากนี้มีภาพเขียนอันทรงคุณค่า คือ
             ๑. ภาพพระภิกษุพิจารณากรรมฐานต่อหน้าซากศพ (อสุภกรรมฐาน) เขียนลงบนแผ่นไม้สัก เข้ากรอบรูปไข่จำนวน ๑๐ ภาพ แขวนอยู่ที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างแต่ละช่อง
             ๒. ภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติ เขียนลงบนแผ่นไม้สักเข้ากรอบไม้สลักลวดลายงดงามกรอบ เป็นชุด ๆ ละ ๓ ภาพ จำนวน ๑๔ ชุด อยู่เหนือกรอบประตูหน้าต่างทุกช่อง ใบเสมาตั้งอยู่ภายในซุ้มปูนปั้นศิลปะแบบราชนิยมสมัยรัชการที่ ๓ ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถจำนวน ๘ ซุ้ม ปัจจุบันพระอุโบสถวัดบพิตรพิมุขวรวิหารเป็นสถานที่ทำวัตรเช้า–เย็นประจำวัน ทำสังฆกรรม เช่น อุโบสถกรรม อุปสมบทกรรม เป็นที่ประชุมฟังธรรมของอุบาสกอุบาสิกาในวันธรรมสวนะและประกอบพิธีกรรมในวัน สำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และ วันมาฆบูชา


๒. พระวิหาร


               พระ วิหาร ตั้งขวางพระอุโบสถด้านตะวันออก ยกพื้นสูง ๒ ชั้น สูงกว่าพระอุโบสถ หลังคาทรงไทยซ้อนสองชั้น เสาอยู่ข้างนอกเหมือนพระอุโบสถ มีประตูด้านข้างสองช่องคือด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก ตรงกับหน้าพระอุโบสถ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นรูปดอกเบญจมาศเช่นเดียวกับพระอุโบสถผนังด้านใน ทาด้วยฝุ่นแดงเขียนลายดอกไม้ร่วง ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน ๖ องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นชุกชี (เดิมประดิษฐานอยู่ด้านเหนือ ๓ องค์ และด้านใต้ ๓ องค์ ปัจจุบันทางวัดได้ย้ายมาประดิษฐานรวมกันไว้ด้านทิศใต้เพื่อใช้พื้นที่ได้มาก ขึ้น) กับมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิสมัยทวาราวดีขนาดย่อมประดิษฐานอยู่ด้วย (ปัจจุบันได้ย้ายไปประดิษฐานไว้ในที่ปลอดภัย) พระพุทธรูปแบบนี้เคยพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่ง


๓. พระเจดีย์ทรงลังกา


           ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม สูง ๑๒- ๑๘ เมตรตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกหลังพระอุโบสถกล่าวกันว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 


๔. ระเบียงพระวิหารคต


            ลักษณะ เป็นอาคารชั้นเดียวยาวรูปตัวยู กว้าง ๕ เมตร ทิศตะวันออกมีจตุรมุขเป็นต้นประตูทางเข้าออกด้านถนนจักรวรรดิ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย จำนวน ๔๘ องค์
            ปัจจุบันระเบียงพระวิหารคตเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนทั่วไป


๕. ศาลาการเปรียญ


             ลักษณะ เป็นอาคารทรงไทย ๒ ชั้น หลังคามุขลดสองขั้นมุงด้วยกระเบื้องเคลือบประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงษ์มีชาน เดินโดยรอบ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ 
             ปัจจุบันศาลาการเปรียญ เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังนี้
                    ชั้นบน   เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล
                    ชั้นล่าง  เป็นสถานที่ถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุสามเณรประจำทุกวัน


๖. โรงเรียนพระปริยัติธรรม


            ลักษณะ เป็นอาคารทรงไทย ๓ ชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบประดับใบระกา กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สร้างโดยบุตรธิดาของคุณแม่อิ่มจิตต์ ถาวรธนสาร และครอบครัวถาวรธนสาร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒
         ปัจจุบันโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีของพระภิกษุสามเณรทั่วไป ในวัดบพิตรพิมุข และวัดอื่น ๆ เป็นสถานที่สอบบาลีสนามหลวงชั้น ประโยค ๔ ฝั่งธนบุรี นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่อบรมเยาวชนในบางโอกาส


๗. พลับพลารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๕) 
         ลักษณะเป็นอาคาร ๓ ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสี ชั้นบนเป็นไม้ทั้งหมด ชั้นสองเป็นคอนกรีต มีชานโดยรอบ


ปัจจุบันพลับพลารับเสด็จฯ แบ่งประโยชน์ใช้สอย ดังนี้
           ชั้นที่ ๑ เป็นห้องเอนกประสงค์
           ชั้นที่ ๒ เป็นหอสมุดวัดบพิตรพิมุข เป็นที่ศึกษาหาความรู้วิชาการด้านพระพุทธศาสนา
           ชั้นที่ ๓ เป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บรักษาโบราณวัตถุต่างๆ ที่สำคัญของวัด


๘. กุฏิเก๋งจีน


           กุฎิเก๋งจีน เรียกว่า “คณะต้นจันทร์” ที่เรียกเช่นนั้นเพราะมีต้นจันทร์ปลูกอยู่กลางหมู่กุฏิต้นหนึ่ง (ปัจจุบันเป็นคณะ ๑) กุฏิกลุ่มนี้เป็นของเก่าเข้าใจว่าสร้างในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งกำลังนิยมศิลปะแบบจีนกันทั่วไป ได้รับคำบอกกล่าวว่า พระยาโชฎึกราชเศรษฐี สร้างถวาย ถ้าเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเจ้ากรมฝ่ายซ้ายในรัชกาลที่ ๓ จริงก็ต้องมีชื่อเดิมว่า “ทองดี”

           แต่เดิมนั้นสร้างเป็นแบบจีนทั้งหมด เมื่อเกิดผุพัง จึงซ่อมใหม่ในภายหลังจึงให้เปลี่ยนแปลงใช้แบบไทยเข้าไปปนบ้างบางส่วน แต่เครื่องบนยังคงแสดงให้เห็นถึงการเข้าไป้ตามแบบจีนอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งสมควรจะได้มีการรักษาไว้นานๆ


๙. กุฎิสงฆ์ทรงไทย ๒ ชั้น จำนวน ๕ หลัง ได้แก่
         กุฎิคณะ ๒ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น รูปตัวแอล หลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙
         กุฏิคณะ ๓ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้นเช่นเดียวกับคณะ ๒ ต่างแต่เป็นอาคารรูปตัวยู สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗
         กุฏิคณะ ๔ และ คณะ ๕ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น หลังคามุงกระเบื้องเคลือบลักษณะเดียวกับคณะ ๒
         กุฎิคณะ ๖ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น รูปตัวแอล เช่นเดียวกับกุฏิคณะ ๒